สำหรับบริษัท
ฉีดวัคซีน ซื้อประกันเองคุ้มครองแค่ไหน- รัฐจ่ายเยียวยาอย่างไร หากแพ้วัคซีนโควิด-19

ฉีดวัคซีน ซื้อประกันเองคุ้มครองแค่ไหน- รัฐจ่ายเยียวยาอย่างไร หากแพ้วัคซีนโควิด-19

08 มิถุนายน 2564

ฉีดวัคซีน ซื้อประกันเองคุ้มครองแค่ไหน- รัฐจ่ายเยียวยาอย่างไร หากแพ้วัคซีนโควิด-19

08 มิถุนายน 2564

       การฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ในเดือน มิ.ย. นี้ จะเป็นการกระจายวัคซีนกลุ่มใหญ่ หลังจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้รับไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.

       สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีนที่รัฐจัดให้โดยสมัครใจ มีข้อควรรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลืออะไรบ้างจากรัฐ หากพบอาการแพ้ ผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์

เงินช่วยเหลือจากรัฐ
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค. มีมติเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับคนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี

• เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 400,000 บาท
• สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ในอัตราไม่เกิน 240,000 บาท
• บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน โดยมีความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษา ประกอบด้วย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือที่คุ้มครองความเสียหายนี้ สปสช. จะวางขั้นตอนเพื่อให้สามารถจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังจากคณะกรรมการได้รับเรื่อง

• สธ. ชี้แจงทำไมไม่ควรเรียกเชื้อกลายพันธุ์ในอังกฤษว่า "สายพันธุ์ไทย"
• ตรวจสอบการเสียชีวิตของพิธีกรของบีบีซีเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด
• วัคซีนทางเลือกแรกของไทย กับเบื้องหลังปิดดีล "ซิโนฟาร์ม"

ครอบคลุมคนไทยทุกคน แต่ไม่รวมฉีดวัคซีนแบบทางเลือกจาก รพ.เอกชน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่เป็นความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการ

โดยเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือ มีดังนี้
• วัคซีนที่ฉีดต้องเป็นวัคซีนตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี
• ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยจากการรับวัคซีนที่ฉีดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากรัฐ
• ไม่รวมวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย

ยื่นคำร้องเพื่อรับเงินเยียวยาได้ที่ไหน
ประกาศของ สปสช. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ระบุว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ สำนักงาน สปสช. ประจำเขต
       ทั้ง 3 หน่วยงานจะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการเขต เมื่ออนุกรรมการระดับเขตได้รับเรื่องก็จะรีบพิจารณา เพื่อดำเนินการจ่ายค่าชดเชยภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่อนุกรรมการฯ ได้รับเรื่อง

       ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องได้แก่ผู้รับวัคซีน ทายาท ผู้อุปการะ หรือโรงพยาบาลที่ให้บริการ โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย

       บีบีซีไทยโทรศัพท์สอบถามข้อมูลจากสายด่วน 1330 ของ สปสช. ได้รับคำอธิบายว่าผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยให้ยื่นเอกสารที่โรงพยาบาลที่รับการฉีดวัคซีน โดยต้องมีเอกสารรับรองการรับบริการฉีดวัคซีนของผู้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกชื่อ นามสกุล วันที่รับวัคซีน สำเนาบัตรประชาชน และใบคำร้องที่ผู้เสียหายต้องเขียนรายละเอียดบรรยายว่า ไปรับวัคซีนที่ใด วันเวลา เล่าเหตุการณ์วันที่รับวัคซีน และอาการที่เกิดขึ้นหลังจากรับวัคซีน
       ทั้งนี้ ตลอดการแจ้งข้อมูล ไม่มีการระบุว่าต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบการยื่นคำร้อง

มีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร
เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า การพิจารณาว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นจำนวนเท่าใด คณะอนุกรรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในระดับเขตพื้นที่ จะพิจารณาจากความรุนแรงของความเสียหายและเศรษฐานะของผู้เสียหาย และจ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด

หากจ่ายเงินซื้อประกันเอง
ยิ่งใกล้ระยะที่วัคซีนจะถูกฉีดให้กับประชาชน ยิ่งมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 ในหลายระดับราคา จากหลาย ๆ ยี่ห้อ นอกจากนี้ยังมีการแจกประกันฟรีจากหลายบริษัทประกันภัย รวมถึงสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่ร่วมแจกประกันแพ้วัคซีน รวม 11.5 ล้านสิทธิ์

       จากการสำรวจเงื่อนไขในการรับผลประโยชน์พบว่า บริษัทประกันแต่ละแห่งจะเขียนเงื่อนไขคุ้มครองที่แตกต่างกัน เช่น มีการเขียนความคุ้มครองไว้ในกรณีเจ็บป่วยด้วยภาวะโคมา หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย

       เจ็บป่วยโคมา อันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเจ็บป่วยในภาวะโคมาจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว

       นอกจากนี้บริษัทผู้ขายประกันบางบริษัท มีการขายผลิตภัณฑ์ คุ้มครองจ่ายเงินปลอบขวัญเมื่อรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน โดยกำหนดวงเงินสูงสุดตลอดเวลาเวลาเอาประกันภัย

       บีบีซีไทยสำรวจกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนรายหนึ่ง ได้เขียนเงื่อนไขกำกับไว้ว่า “ไม่คุ้มครองการจ่ายผลประโยชน์ใด ๆ อันเกิดจากสาเหตุโดยตรงหรือ โดยอ้อมจากการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ผ่านอนุมัติจากการขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)”

คปภ. ออกคำสั่งให้ประกันคุ้มครองฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า คปภ. ได้ออกคำสั่ง 2 ฉบับ กำหนดให้กรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 คุ้มครองไปถึงกรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 ในจุดบริการนอกโรงพยาบาลด้วย

       คำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้บริษัทประกันภัยให้ความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่กระทำการโดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะดําเนินการ ณ สถานที่ใดก็ตาม ผู้เอาประกันภัยจะยังได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลทั่วไป

       จากข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค. มีบริษัทประกันภัยได้รับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 25 บริษัท และมี 10 บริษัทที่จำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปแล้ว

Cr.BCC NEWS

TAGS : อัปเดตตำแหน่งงาน , สมัครงาน , โควิด-19 , ฉีดวัคซีน , ติดเชื้อโควิด , ฉีดวัคซีนโควิด , ผลวัคซีนโควิด , วัคซีนโควิด-19 , ฉีดวัคซีน , ประกันสุขภาพ , สุขภาพ , บทความผู้หางาน

บทความที่ได้รับความนิยม
งานที่น่าสนใจ