สำหรับบริษัท
คุมเข้ม! ตุ๋นแรงงานไทยไปต่างประเทศ เผยรอบ 10 เดือน คนงานไทยไปทำงานต่างประเทศเกือบ 100,000 ราย

คุมเข้ม! ตุ๋นแรงงานไทยไปต่างประเทศ เผยรอบ 10 เดือน คนงานไทยไปทำงานต่างประเทศเกือบ 100,000 ราย

15 กันยายน 2565

คุมเข้ม! ตุ๋นแรงงานไทยไปต่างประเทศ เผยรอบ 10 เดือน คนงานไทยไปทำงานต่างประเทศเกือบ 100,000 ราย

15 กันยายน 2565

      กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยรอบ 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2561) แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 99,269 คน ส่วนใหญ่ไปไต้หวันมากสุด พร้อมสั่งสกัดแก๊งหลอกคนหางานไปทำงานต่างประเทศที่ด่านตรวจคนหางานสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง  พบระงับการเดินทางผู้มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงาน จำนวน 2,503 คน

      นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยมอบหมายให้กรมการจัดหางาน มีมาตรการป้องกันและป้องปรามแรงงานไม่ให้ถูกหลอกลวง ซึ่งกรมได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด คุมเข้ม ตรวจสอบและสกัดกั้น เพื่อคุ้มครองคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศไม่ให้ถูกหลอกลวงจากสาย/นายหน้าเถื่อนทั้งก่อนเดินทางไปทำงาน และระหว่างทำงานในต่างประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบตำแหน่งงานในต่างประเทศ กำหนดค่าใช้จ่ายและค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมาย ให้การคุ้มครองแรงงานให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามสัญญาจ้างและกฎหมายแรงงานของประเทศที่เข้าไปทำงานไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง 

      กรมการจัดหางานได้จัดตั้งชุดเฝ้าระวัง คอยตรวจสอบและสกัดกั้นผู้ลักลอบไปทำงานต่างประเทศที่ด่านตรวจคนหางานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และท่าอากาศยานชายแดนระหว่างประเทศทั้ง 25 ด่าน ใน 19 จังหวัด  ทั้งยังตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีพฤติกรรมในการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และใช้สายตรวจออนไลน์คอยตรวจสอบ เฝ้าระวังพฤติการณ์ของกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดี และโพสต์ข้อความเตือนชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศไปยัง Facebook  สำหรับคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศควรหาข้อมูลของประเทศและตำแหน่งงานที่ตนเองจะไปทำงานอย่างละเอียด คิดให้รอบคอบ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการเดินทาง และต้องไปทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองดูแลจากนายจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ควรดำเนินการตรวจสอบข้อมูลนายจ้าง/สถานประกอบการในต่างประเทศให้ละเอียด หากสมัครงานผ่านบริษัทจัดหางาน สามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทจัดหางานได้ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน นอกจากนี้ ควรศึกษาสัญญาการจ้างงาน ทั้งอัตราค่าจ้าง เงื่อนไขการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง เงินค่าล่วงเวลา อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม  สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศก่อนตัดสินใจเดินทาง

      นางเพชรรัตน์ฯ  กล่าวอีกว่า ในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว 99,269 คน จำแนกตามประเภทการเดินทางได้เป็น เดินทางด้วยตนเอง 8,453 คน  กรมการจัดหางานจัดส่ง 10,152 คน  นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน 9,697 คน  นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน 2,911 คน  บริษัทจัดส่ง  22,410 คน   และเป็นการเดินทางแบบ Re-Entry 45,646 คน โดยเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันมากที่สุด 28,334 คน รองลงมาคือ สาธารณรัฐเกาหลี และได้ระงับการเดินทางของผู้ที่จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ทั้งสิ้น  2,503  คน ประเทศที่ระงับการเดินทางสูงสุด 5 อันดับคือ 1. เกาหลีใต้  1,957 คน 2. บาห์เรน  281 คน 3. มาเลเซีย  89  คน 4.  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คน 50 คน 5. รัสเซีย  15 คน  ดังนั้น เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงและเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี ขอให้ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร.0-2245-6763 ,  0-2248-4792 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ขอบคุณที่มา : กรมการจัดหางาน

TAGS : อัปเดตตำแหน่งงาน , รับสมัครงาน , วิธีค้นหางานที่ใช่ , กรมการจัดหางาน , กระทรวงแรงงาน , หางานทำ , สมัครงาน

บทความที่ได้รับความนิยม
งานที่น่าสนใจ